รายงานเหตุการณ์น้ำท่วมโรงพยาบาลหัวทะเล เครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
16-21 ตุลาคม 2553
วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2553
10.30 น. - หัวหน้าพยาบาลได้รับรายงานแจ้งว่า สถานการณ์น้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงที่มีปริมาณมาก อาจจะถูกระบายออกมา ประกอบกับที่มีฝนตกหนักมาเรื่อยๆ บริเวณโรงพยาบาลอาจจะถูกน้ำท่วมได้ จึงได้มาเยี่ยมดูสถานที่และประเมินสถานการณ์ พบว่ามีน้ำท่วมบริเวณไหล่ทางตรงข้ามกับสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดถึงระดับใต้เข่าและมีน้ำไหลมาเรื่อยๆ ทางร้านครัวคุณยายและโรงพยาบาลหัวทะเล หลังจากได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากนายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล กำนันตำบลหัวทะเล ผู้ใหญ่บ้านพะไลหมู่ที่ 5 และผู้นำชุมชนแถวนั้น ประกอบกับการประเมินสถานการณ์เห็นว่า น้ำไหลมาแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงได้รายงานผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวทะเล นายแพทย์สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ ซึ่งตอบกลับมาว่าจะมาที่โรงพยาบาล และเดินทางมาถึงเวลาประมาณ 11.00 น.
11.00 น. - ประสานงานกับเทศบาลตำบลหัวทะเลเพื่อขอกระสอบทรายมากั้นบริเวณทางเข้าโรงพยาบาล แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลว่าให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม ให้ขนย้ายสิ่งของเก็บไว้ในที่สูง และแจ้งเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ขึ้นปฏิบัติงานให้ทราบสถานการณ์และขึ้นมาปฏิบัติงานฉุกเฉินเพื่อช่วยกันขนย้ายสิ่งของ
กระสอบทรายที่ได้รับจากเทศบาลไม่เพียงพอ ต้องระดมเจ้าหน้าที่ไปช่วยกรอกทรายใส่กระสอบ แล้วได้รับความร่วมมือจากเทศบาลในการขนกระสอบทรายมาวางเป็นแนวกั้นน้ำ แต่ก็มีประชาชนที่เดือดร้อนมาขโมยกระสอบทรายที่วางกั้นน้ำไว้
13.00 น. - น้ำที่ไหลมาจำนวนมาก ไหลแรงและเร็ว ทำให้กระสอบทรายไม่สามารถกั้นอยู่ได้ จึงนำเครื่องสูบน้ำมาสูบออก แต่ก็ยังไม่ทัน น้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล้นเข้าไปในตึกผู้ป่วยใน เจ้าหน้าที่ต้องรีบเร่งขนย้ายสิ่งของสำคัญและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงนำไปเก็บไว้ในที่สูงและปลอดภัย
ขออัตรากกำลังจากโรงพยาบาลมหาราชฯ เพื่อมาช่วยเหลือเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว อาจจะขนย้ายสิ่งของไม่ทันและก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมากได้มีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลมหาราชฯมาช่วย จำนวน 8 ท่าน
สภาพน้ำยังท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆนายแพทย์สายลักษณ์ พิมพ์เกาะจึงรายงานประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลหัวทะเล พญ. ดวงตา อ่อนสุวรรณ ได้รีบมาโรงพยาบาลหัวทะเล ช่วยขนย้ายสิ่งของ ประสานงาน และประเมินสถานการณ์
18.00 น. - ทีมผู้บริหารได้ปรึกษากัน เห็นควรย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้สภาพน้ำได้ไหลทะลักเข้ามา และกำลังจะท่วมพื้นที่ในโรงพยาบาลเกือบ 100% น้ำประปา ไฟฟ้า และระบบสื่อสารจะต้องถูกตัดขาด
ประสานกับโรงพยาบาลต่างๆที่จะย้ายผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ
แจ้งทีมเจ้าหน้าที่ แจ้งผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ทราบสถานการณ์น้ำท่วมและแผนการย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีผู้ป่วยนอนพักรักษาตัว12 ราย ทั้งแพทย์ทีมบริหารและแพทย์เวรช่วยกันประเมินผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งต่อไปรักษาตามสภาพอาการ ผู้ป่วยที่อาการทุเลาให้กลับบ้านได้ 2 ราย กลุ่มโรคมะเร็งและหอบหืดส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ 5 ราย (ขณะนั้นน้ำยังไม่ท่วม) และกลุ่มโรคทั่วไปอาการไม่หนักมากส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนครราชสีมา 5 ราย โดยประสานขอเรือและรถขนส่งผู้ป่วยขนาดใหญ่ไปที่กองทัพภาค 2 ใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก สามารถนั่งได้ ขอรถพยาบาล (Ambulance) ไปที่โรงพยาบาลมหาราชฯ และโรงพยาบาลนครราชสีมาใช้สำหรับขนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างหนัก ตลอดเส้นทางการเดินทางไปที่โรงพยาบาลนครราชสีมาค่อนข้างติดขัด เนื่องจากมีน้ำท่วมถนนซึ่งไหลแรงตลอดเส้นทางการเดินทาง ต้องใช้รถนำทางเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางบางช่วงที่ไม่สามารถวิ่งรถได้ การขนย้ายผู้ป่วยแล้วเสร็จเวลาประมาณ 02.00น. ทางโรงพยาบาลหัวทะเลได้จัดพยาบาลตามไปช่วยดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลนครราชสีมาตลอดทั้งเวรดึก รวมทั้งเตรียมวัสดุการแพทย์ไปด้วยบางส่วน
สาธารณูปโภคที่ รพ. หัวทะเลถูกตัดขาด น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ประตูโรงพยาบาลไม่สามารถปิดได้ มีการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้ายามดูแลทรัพย์สินสิ่งของ อยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง
วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2553
ระดับน้ำท่วมสูง สภาพพื้นที่ของโรงพยาบาลถูกน้ำท่วม 100%ของพื้นที่ ที่หน้าโรงพยาบาลวัดได้ 90 เซนติเมตร ภายในตึกผู้ป่วยวัดได้ 30 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ร่วมกับชาวบ้านได้ช่วยกันยกสิ่งของขึ้นระดับสูงเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสถานการณ์น้ำยังไม่นิ่ง ประกอบกับยังมีฝนตกลงมาเรื่อยๆ การสื่อสารถูกตัดขาดทั้งหมด ทั้งโทรศัพท์ โทรสาร และอินเตอร์เน็ต ใช้ได้เพียงวิทยุสื่อสาร
มีการจัดซื้อ/ จัดหาอุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นเพิ่มเติม เช่น เต๊นท์ รถขนของ ผ้ายางคลุมสิ่งของ ไฟฉายขนาดใหญ่ แต่เรือขนาดเล็กที่จะเตรียมไว้สำหรับขนของหนีน้ำฉุกเฉินกรณีที่มีน้ำมาเพิ่มอีก แต่หาซื้อไม่ได้ เนื่องจากขาดตลาด
มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น เช่น กองทัพภาค 2 ได้นำเรือมาช่วยบริการประชาชนที่อาศัยอยู่หมู่บ้านหลังโรงพยาบาลเพื่อสัญจรไปมาโดยใช้ทางผ่านของโรงพยาบาลซึ่งมีสภาพกลายเป็นคลอง ประชาชนบางส่วนได้มาขอรับอาหารจากโรงพยาบาลเนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือถึงครัวเรือน
ฝ่ายเภสัชกรรมได้ให้เจ้าหน้าที่มาขนยาและเวชภัณฑ์บรรทุกขึ้นทางเรือและนำส่งรถต่อ เพื่อไปจัดเก็บที่โรงพยาบาลมหาราชฯ (น้ำยังไม่ท่วมโรงพยาบาลมหาราชฯ)
เจ้าหน้าที่และชาวบ้านบางส่วนที่จอดรถไว้ในบริเวณโรงพยาบาลได้ทยอยนำรถ(มอเตอร์ไซค์)ออกจากโรงพยาบาลโดยทางเรือ เพราะหากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจะนำออกไม่ได้ และมีความเสียหายมาก ส่วนรถยนต์ยังไม่สามารถนำออกได้เนื่องจากน้ำยังท่วมสูง
โรงพยาบาลหัวทะเลได้ปิดประกาศแจ้งประชาชนในการงดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากน้ำท่วม
สภาพน้ำท่วมโรงพยาบาลหัวทะเลและการขนย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้นำออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5
ทีมบริหารโรงพยาบาลหัวทะเลได้รับแจ้งเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ปรึกษาและวางแผนการรับมือน้ำท่วมและการจัดการระบบงานสนับสนุนต่างๆที่โรงพยาบาลหัวทะเลเชื่อมโยงระบบงานกับ รพ. มหาราชฯ
ประสานขออุปกรณ์สนับสนุนจาก สสจ. นครราชสีมา รองเท้าบูท 50 คู่ และคลอรีนสำหรับหยดละลายน้ำ
มีการจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามเพื่อดูแลทรัพย์สินสิ่งของ อยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่อื่นๆเตรียมพร้อมรับคำสั่งฉุกเฉินหากมีน้ำมาอีกระลอก เนื่องจากสถานการณ์น้ำจากทางเขื่อนลำตะคองกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมากำลังถูกน้ำท่วมขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2553
น้ำท่วมที่ รพ.มหาราชฯ ระบบงานต่างๆ ถูกตัดขาด ต้องปิดบริการ ไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้ น้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆและไหลแรงมาก สื่อมวลชนต่างๆ มาทำข่าวอย่างมากมาย
รพ. หัวทะเลน้ำลดลงเกือบทั้งหมด เนื่องจากสภาพการไหลท่วมของน้ำที่ไหลมาแรงและเร็วและทางเทศบาลได้มีการทลายเกาะกลางถนนเพื่อให้น้ำไหลระบายออกไปได้เร็วยิ่งขึ้น ส่วนภายในโรงพยาบาลที่ท่วมขังเล็กน้อยได้ใช้เครื่องสูบน้ำสูบออกจนหมด ได้รับคำสั่งจาก ผอ. รพ.หัวทะเล นายแพทย์สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ ซึ่งดูแลกำกับสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ที่รพ. มหาราชฯ ให้ทำความสะอาดโรงพยาบาล เพราะถึงแม้จะมีน้ำมาอีกระลอก ก็คงไม่ท่วมสูงเข้ามาถึงบริเวณภายในโรงพยาบาล เนื่องจากมีการเตรียมการรับมือไว้แล้ว และถ้าหากโรงพยาบาลมหาราชฯต้องการย้ายบริการต่างๆ ที่ จำเป็นมาเปิดบริการที่รพ. หัวทะเล จะได้ดำเนินการได้ทันที
มีการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมทั้งด้านบุคลากร อาคารสถานที่ และอุปกรณ์ของใช้ โดยให้แต่ละหน่วยส่งรายงานมาที่หัวหน้าพยาบาล
เนื่องจากผู้ป่วยจาก รพ. มหาราชฯส่วนหนึ่งจะย้ายไปที่ รพ. นครราชสีมา และเปิดบริการผู้ป่วยนอกที่ รพ. นครราชสีมา พญ. ดวงตา อ่อนสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร รพ. หัวทะเล ให้เตรียมการจัดอัตรากำลังด้านการพยาบาลไปช่วยในการดูแลผู้ป่วยทุกเวรที่ รพ. นครราชสีมา จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกหรือสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูแลผู้ป่วยเวรละ 4 คน เป็นพยาบาล 2 คน และผู้ช่วยเหลือคนไข้ 2 คน ช่วยดูแลแผนกผู้ป่วยในทั้งตึกชายและตึกหญิง
วันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2553
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหัวทะเลช่วยกันล้าง ทำความสะอาดโรงพยาบาล โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลหัวทะเลในการสนับสนุนเรื่องเจ้าหน้าที่และรถฉีดน้ำล้าง สามารถล้างได้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ยังคงเหลือการจัดอุปกรณ์ของใช้ต่างๆเข้าที่
ฝ่ายเภสัชกรรมได้นำยาและเวชภัณฑ์เข้าเก็บประจำที่ มีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานเภสัชกรรมมาช่วย 10 คน
ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายในส่วนของบ้านพักอาศัยส่วนตัว และรายงานให้ทราบเพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือตามลำดับขั้นต่อไป
วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2553
จัดสถานที่อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมใช้งาน และสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม
ตรวจสอบระบบไฟฟ้าโดยประสานกับการไฟฟ้าสาขาดอนขวาง ได้มาตรวจสอบให้ และแจ้งสภาพความพร้อมใช้งานและความชำรุดของไฟฟ้าแต่ละจุด
ด้านเครื่องมือแพทย์บางชนิดได้ประสานกับบริษัทตัวแทนจำหน่าย เพื่อตรวจสอบสภาพความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซม
ประสานระบบน้ำประปา สามารถใช้งานได้บ้าง น้ำไหลแต่ไม่แรง
ประสานงานเรื่องระบบงานสนับสนุนต่างๆ
- การกำจัดขยะ ขยะทั่วไปมีรถเทศบาลมารับ ขยะติดเชื้อได้ประสานกับ รพ. มหาราชฯ แจ้งว่าจะประสานกับบริษัทให้มารับที่รพ. หัวทะเลโดยตรง
- การส่งผ้าซัก ได้ติดต่อกับฝ่ายพัสดุ ให้นำผ้าส่งซักกับบริษัทรับเหมาของเอกชนที่จังหวัดขอนแก่น โดยจะต้องนำผ้าไปรวมกับผ้าของ รพ.มหาราชฯ สถานที่รับส่งผ้าอยู่ที่ รพ. กรุงเทพฯ (เนื่องจากเป็นบริษัทเดียวกับที่รับเหมาซักให้ รพ.กรุงเทพฯ) บริษัทมารับวันละ2 รอบ คือ รอบเช้า ส่งผ้าเวลา 07.00น. รับผ้าในวันรุ่งขึ้น ส่วนรอบเย็น ส่งผ้าเวลา 19.00 น. รับผ้าวันเว้นวัน
- การเบิกอาหาร ได้ประสานกับฝ่ายพัสดุในการจัดหาอาหารสำหรับผู้ป่วย เพราะปกติแล้ว รพ. หัวทะเล รับอาหารผู้ป่วยมาจากรพ. มหาราชฯ ได้รับแจ้งให้จัดหาจากภาคเอกชน แล้วนำใบเสร็จไปเบิก ได้ติดต่อกับร้านค้าใกล้โรงพยาบาลเพื่อจัดทำอาหารสำหรับผู้ป่วย
การเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตสามารถใช้ได้ แต่ระบบ LAN ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจาก รพ. มหาราชฯ สภาพยังคงถูกน้ำท่วมสูง
เตรียมรับผู้ป่วยจาก รพ. มหาราชฯ ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยประสานกับเทศบาลและหมู่บ้านใกล้เคียงในการขอยืมเต๊นท์ จำนวน 4 หลัง โต๊ะ และเก้าอี้
วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2553
สาธารณูปโภคต่างๆ สามารถใช้งานได้ตามปกติ ขัดข้องเพียงระบบ LAN ที่ยังเชื่อมต่อกับรพ.มหาราชฯ ไม่ได้
08.00 น. - เปิดบริการได้ตามปกติ แผนกที่เปิดบริการคือ แผนกผู้ป่วยนอก และแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน
10.00 น. - เปิดบริการแผนกผู้ป่วยใน เพราะรับ Admit. ใหม่ 1 ราย และย้ายผู้ป่วยกลับมาจาก รพ.นครราชสีมา 3 ราย (ย้ายมาในเวรเช้า 2 ราย และเวรบ่าย 1 ราย)
ยอดผู้ป่วย ER จำนวน 8 ราย
OPD จำนวน 12 ราย
Admit 1 ราย
Refer ไป รพ.ค่ายสุรนารี 1 ราย Ac. Appendicitis ได้รับการผ่าตัด
วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2553 เปิดบริการได้ตามปกติ
แผนกที่เปิดบริการคือ แผนกผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุฉุกเฉิน
10.00 น. - มีผู้ป่วยเจ็บครรภ์คลอด 1 ราย รถ refer นำส่งที่ รพ. ค่ายสุรนารี
ยอดผู้ป่วย ER จำนวน 8 ราย
OPD จำนวน 21 ราย
Admit - ราย
Refer ไป รพ.ค่ายสุรนารี 1 ราย เจ็บครรภ์คลอด
ไป รพ. ป.แพทย์ 2 ราย
วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2553
ยอดผู้ป่วย ER จำนวน 44 ราย
Admit 2 ราย
Refer ไป รพ. บุรีรัมย์ 1 ราย On tube นำส่งโดยรถ รพ. หัวทะเล และทีมนำส่ง พยาบาล 2 คน
วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาและคณะ เยี่ยมสำรวจที่โรงพยาบาลหัวทะเล
ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลหัวทะเล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และหัวหน้าพยาบาล นำเสนอสรุปสถานการณ์น้ำท่วมและความเสียหายของโรงพยาบาลหัวทะเล
นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเลและคณะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนเข้าร่วมรับฟัง
วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2553 รพ. มหาราชฯ เปิดบริการได้ตามปกติ ระบบงานต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันกับ รพ. หัวทะเล ได้
*****************************************